1062 จำนวนผู้เข้าชม |
โอกาส SMEs สร้างผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากสมุนไพรเจาะตลาดโลก
สมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงสุดในขณะนี้คือ “ฟ้าทะลายโจร” เนื่องจากสรรพคุณที่มีสารออกฤทธิ์บรรเทาอาการหวัด และบุคลากรแพทย์ของไทยกำลังทำการวิจัยในเรื่องสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรค COVID-19 ได้หรือไม่ ทำให้ความต้องการสมุนไพรในตลาดทั้งประเทศไทยและตลาดโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ฟ้าทะลายโจร” ที่มีความหมายถึง ฟ้าประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เปรียบเสมือนเหล่าโจรร้าย และในภาษาจีนกลาง ยามีชื่อว่า “ชวนซิเหลียน” แปลว่า “ดอกบัวอยู่ในหัวใจ” และวงการแพทย์จีนได้ยกฟ้าทะลายโจรเป็นยาตำราหลวงที่มีสรรพคุณโดดเด่น แสดงถึงสมุนไพรที่มีคุณสมบัติพิเศษในหลายด้าน
นอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังมีสมุนไพรไทยอีกจำนวนมาก ที่มีสรรพคุณพิเศษและมีความโดดเด่น โดยประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่อยู่ในประเทศรวม 11,625 ชนิด และมีประมาณ 1,800 ชนิด หรือ 15.5% ของทั้งหมดที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ส่วนพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์มีจำนวนรวม 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในตลาด
สมุนไพรที่มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องและมีความต้องการอยู่ในระดับสูง จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการของประเทศไทยให้มาขยายตลาดสมุนไพร ตั้งแต่กลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำที่จะพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำให้มีคุณภาพ จนถึงกลางน้ำที่จะนำวัตถุดิบ สารสกัด ที่มีคุณภาพ นำมามาใช้ประโยชน์พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรกับความต้องการของตลาดมากที่สุด ส่วนปลายน้ำที่จะต้องส่งเสริมการขยายตลาด และการเปิดตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ
สำหรับนโยบายของประเทศไทยได้วางแผนพัฒนาสมุนไพรเป้าหมายหลักได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน ไพล และกระชายดำ สู่ผลิตภัณฑ์ใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ทั้งนี้การนำสมุนไพรไปแปรรูปในกลุ่มอาหารสามารถพัฒนาสู่การเป็นอาหารเสริมสุขภาพ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงกลุ่มอาหารที่เจาะลูกค้าแบบเฉพาะกลุ่ม รวมถึงกลุ่มยา นำไปพัฒนาสู่สารสกัดแบบเข้มข้น แบบแคปซูล หรือ วัคซีน ส่วนเครื่องสำอาง สามารถนำไปพัฒนาสู่ เวชสำอาง หรือ เครื่องสำอางสำหรับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ รวมถึงเครื่องสำอางสำหรับการต่อต้านริ้วรอย
กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ตลาดสมุนไพรไทยของประเทศไทย มีมูลค่ารวมการส่งออกรวมในปี 2562 มากกว่า 146,605 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 280,164 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวสูงในทุกปี ส่วนตลาดสมุนไพรในโลก มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น ตลาดกลุ่ม CLMV ส่วนตลาดรองได้แก่ ตลาดจีน และอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ได้แก่ 1. บริษัท ห้าตะขาบ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ตราห้าตะขาบ) 2. บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด 3. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 4. บริษัท โกลด์คลอส จำกัด (น้ำมันเหลือง) 5. บริษัท วิเศษ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ผลิตภัณฑ์หมอเส็ง) และ 6. บ้านสวนสมุนไพรชัยศิขริน
ประเทศที่มีการนำเข้าสมุนไพรสูงสุดอันดับหนึ่งได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ส่วนประเทศที่มีการส่งออกอันดับหนึ่งจีน รองลงมา สหรัฐ อินเดีย เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ
ทิศทางภาพรวมของตลาดสมุนไพรในโลกจะมีสูงขึ้นจะมาจากปัจจัยสำคัญได้แก่
1. ผู้บริโภคให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดของ COVID - 19 ที่เกิดขึ้นในทั่วโลก จึงให้ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
2. ผู้บริโภคให้ความสนใจกับการดูแลความงามสูงขึ้น จึงมีความสนใจการดูแลผิวและบำรุงผิว รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอย (แอนตี้ เอจจิ้ง)
3. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (เอจจิ้ง โซไซตี้) ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2564 ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพในระดับสูงมากขึ้น รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบเฉพาะโรค
4. การส่งเสริมใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภาครัฐและความตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมีมากขึ้น
บทสรุป : สำหรับประเทศไทยที่มีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัย และองค์กรต่าง ๆ พร้อมร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรควรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้มาร่วมพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีนวัตกรรม จะส่งผลต่อการขยายตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ในระยะยาว
ที่มา : https://www.bangkokhealth.com/health/article/-213
https://www.nstda.or.th/sci2pub/nac2019/28/28MAR-TheHerbalNanopaticles-Bangorn.pdf
https://ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php? filename=contents_attach/560109/560109.pdf&title=560109&cate=1143&d=0
รูปจาก : https://pixabay.com
เรียบเรียงโดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม