546 จำนวนผู้เข้าชม |
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” วาระแห่งชาติ แรงหนุนเพิ่มมูลค่าจีดีพีไทย
ภาครัฐได้ประกาศ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว โดยจะเป็นนโมเดลเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อีก 1 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี (ระหว่างปี 2564-2569) หรือมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า
โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะบูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม
กิจกรรมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มี 5 ด้านได้แก่ 1.อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2. บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน 3. ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 4. สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ 5. สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
การขับเคลื่อนการจะอยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ
1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ ส่วน 1 ฐานคือ ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
และ ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy) และจะมีการนำแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ด้วย
อย่างไรก็ตามการประกาศ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เหมือนกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องสำเร็จภายใน 5 ปี ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมถึงให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข และจะนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้วย พร้อมกับการร่วมดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ของประเทศในระระยาว
ทั้งหมด BCG จะเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งสำคัญ และเป็นการขับเคลื่อนทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นกรอบรับมือการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้วิถีปกติใหม่ (new normal)
เรียบเรียนโดย : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38284
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38369